Muscle Strain คืออะไร หากกล้ามเนื้อฉีกอาการจะเป็นอย่างไร

การทำกิจกรรมที่หักโหมเกินไป เช่น ยกของหนักบ่อยๆ หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเล่นกีฬา อาจนำไปสู่การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจนถึงขั้นฉีกขาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬาหรือผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ คลินิกกายภาพบำบัด เดอะคอมมอนส์คลินิก (The Commons Clinic) จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกล้ามเนื้อฉีกอาการเป็นอย่างไร ระดับความรุนแรง และวิธีการรักษาที่ถูกต้องเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

กล้ามเนื้อฉีก (Muscle Strain) คืออะไร

กล้ามเนื้อฉีก หรือ Muscle Strain คือ การบาดเจ็บที่เกิดจากเส้นใยกล้ามเนื้อถูกยืดหรือฉีกขาดจากการใช้งานหนักเกินไป หรือการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ บวม และมีอาการปวดบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ มักพบบ่อยบริเวณกล้ามเนื้อที่มีการใช้งานซ้ำๆ หรือรับแรงกระแทกโดยตรง เช่น กล้ามเนื้อต้นขา น่อง หลัง และไหล่ โดยความรุนแรงของการบาดเจ็บจะขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นใยกล้ามเนื้อที่ได้รับความเสียหาย

ความแตกต่างระหว่างกล้ามเนื้อฉีกกับเจ็บกล้ามเนื้อทั่วไป

กล้ามเนื้อฉีกอาการจะแตกต่างจากการเจ็บกล้ามเนื้อทั่วไปอย่างชัดเจน การบาดเจ็บทั่วไป เช่น กล้ามเนื้อล้า หรือปวดเมื่อย จะมีอาการปวดๆตึงๆ และหายได้เองภายในไม่กี่วันด้วยการพักผ่อน แต่เมื่อเกิดกล้ามเนื้อฉีก จะมีอาการปวดแบบเฉียบพลัน บางครั้งได้ยินเสียง “แกร๊ก” ขณะเกิดอุบัติเหตุ พร้อมกับมีอาการบวม แดง ร้อน และอาจมีรอยช้ำเกิดขึ้น การเคลื่อนไหวจะทำได้จำกัด หรืออาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีตามระดับความรุนแรง

อาการกล้ามเนื้อฉีกขาดมีด้วยกันกี่ระดับ

อาการกล้ามเนื้อฉีกขาดมีด้วยกันกี่ระดับ

ระดับ 1: กล้ามเนื้อฉีกเล็กน้อย

  • มีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • กล้ามเนื้อยังคงทำงานได้แต่อาจรู้สึกตึง
  • อาการบวมเพียงเล็กน้อย
  • สามารถเคลื่อนไหวได้เกือบเป็นปกติ

ระดับ 2: กล้ามเนื้อฉีกปานกลาง

  • ปวดรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว
  • มีอาการบวมชัดเจน
  • อาจพบรอยช้ำในบริเวณที่บาดเจ็บ
  • การเคลื่อนไหวทำได้จำกัด

ระดับ 3: กล้ามเนื้อฉีกรุนแรง

  • ปวดรุนแรงมาก มักได้ยินเสียงขณะเกิดอุบัติเหตุ
  • กล้ามเนื้อขาดออกจากกันอย่างชัดเจน
  • บวม แดง และมีรอยช้ำมาก
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวส่วนที่บาดเจ็บได้

หากกล้ามเนื้อฉีกกี่วันหาย

ระยะเวลาการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ 

  • ระดับ 1: ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
  • ระดับ 2: ใช้เวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์
  • ระดับ 3: อาจใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หรือมากกว่า

5 สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อฉีก

อาการกล้ามเนื้อฉีกเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน สาเหตุสำคัญมักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่ผิดวิธี การออกแรงมากเกินไป หรือการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อได้รับความเสียหายจนเกิดการฉีกขาด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อฉีก

1. การออกกำลังกายหักโหมเกินไป

การออกกำลังกายหนักเกินขีดจำกัดของร่างกาย เป็นสาเหตุหลักของการเกิดกล้ามเนื้อฉีก โดยเฉพาะเมื่อเพิ่มความหนักหรือระยะเวลาการออกกำลังกายอย่างรวดเร็วเกินไป กล้ามเนื้อจะถูกใช้งานจนเกินขีดความสามารถในการรับแรง ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาดได้ มักพบในผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายใหม่ หรือกลับมาออกกำลังกายหลังจากหยุดพักเป็นเวลานาน

2. การยืดกล้ามเนื้อมากเกินไปอย่างฉับพลัน

การยืดกล้ามเนื้อแบบหักโหม หรือทำท่าทางที่เกินขีดจำกัดความยืดหยุ่นของร่างกายอย่างทันทีทันใดนั้น อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อได้ทันที เช่น การเตะลูกบอลอย่างแรงโดยไม่วอร์มร่างกาย หรือการพยายามเอื้อมหยิบสิ่งของที่อยู่สูงเกินไปอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อต้องรับแรงดึงที่มากเกินไป

3. การเล่นกีฬาโดยไม่วอร์มร่างกาย

การเริ่มเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายทันทีโดยไม่วอร์มร่างกาย หรือทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเลยนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อที่ยังไม่พร้อมจะมีความยืดหยุ่นต่ำและรับแรงได้น้อย เมื่อต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วหรือรับแรงกระแทก จึงเสี่ยงต่อการฉีกขาดได้ง่าย

4. อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาหรือการทำงาน

การได้รับแรงกระแทกโดยตรง การเคลื่อนไหวผิดท่า หรือการหกล้มระหว่างเล่นกีฬาหรือทำงาน อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อได้ทันที โดยเฉพาะในกีฬาที่มีการปะทะกัน หรืองานที่ต้องยกของหนัก มีการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมนานๆ ซ้ำๆ ซึ่งกล้ามเนื้อต้องรับแรงกระแทกหรือแรงต้านที่มากเกินกว่าจะรับได้

5. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสบาดเจ็บ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสการบาดเจ็บ เช่น กล้ามเนื้อที่เหนื่อยล้าจากการใช้งานต่อเนื่องโดยไม่ได้พัก ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ รวมถึงการมีประวัติบาดเจ็บเก่าที่ยังไม่หายดี ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนแอและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำได้ง่าย การพักฟื้นที่ไม่เพียงพอระหว่างการออกกำลังกาย ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

การป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อฉีก

สรุป การป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อฉีก

การป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อฉีกเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับการฝึกฝนกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมขณะเล่นกีฬา หรือเมื่อต้องทำงาน ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อฉีกได้ 

สำหรับการรักษากล้ามเนื้อฉีกที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักกายภาพบำบัด เพื่อประเมินความรุนแรงและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง โดยการรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อบรรเทาอาการและเร่งการฟื้นฟูของกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้าใช้บริการ The Commons Clinic ได้ที่ :

12/02/68 เวลา 20:41 น.