ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร? อาการเป็นแบบไหน? จะรู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงเป็น?

พนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน อย่างน้อยวันละ 7 – 8 ชั่วโมง จะต้องพบเจอกับอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบริเวณหลังอย่างแน่นอน แล้วอาการปวดแบบนี้ ใช่อาการของโรคยอดฮิตอย่างออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หรือเปล่า? จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น? และควรรับมือกับอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างไรดี? The Commons Clinic (เดอะ คอมมอนส์ คลินิก) จะพาคุณไปหาคำตอบเอง

ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม คือ ชื่อเรียกรวม ๆ ของกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) อาการปวดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็น (Tendinitis) และอาการปวด แขนขาอ่อนแรง มือชา ขาชา จากการที่ปลายประสาทถูกกดทับ

สาเหตุที่เรียกว่าออฟฟิศซินโดรมก็เพราะเป็นอาการที่มักพบในกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ด้วยท่าทางเดิม ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง อักเสบ และเกิดอาการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น คอ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ กว่าจะรู้ตัวอีกก็ลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังแล้ว

ออฟฟิศซินโดรม สาเหตุเกิดจากอะไร?

ออฟฟิศซินโดรม สาเหตุเกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวเกิดการตึง อักเสบ และเกิดอาการปวด ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว และทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ จนทำให้อาการปวดทั่วไปพัฒนาไปเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เช่น

  • นั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง : เช่น ระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ไม่พอดีกัน ทำให้ต้องยกไหล่เวลาพิมพ์งาน หรือต้องก้ม หรือเงยมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • ได้รับบาดเจ็บจากการใช้งานซ้ำ ๆ หรือใช้งานมากเกินไป : เช่น การใช้เมาส์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ในทุก ๆ วัน จนทำให้เอ็นข้อมืออักเสบ หรือเกิดพังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
  • สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม : เช่น มีแสงสว่างในห้องทำงานมาก หรือน้อยเกินไป

นอกจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงานแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ได้รับสารอาหารไม่ครบ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป และการไม่ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง

ออฟฟิศซินโดรม อาการเป็นอย่างไร?

ออฟฟิศซินโดรม อาการเป็นอย่างไร

ออฟฟิศซินโดรม อาการจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ซึ่งในแต่ละคนอาจมีอาการแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นหลายกลุ่มร่วมกันก็ได้ ดังนี้

1. อาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก ปวดหลังส่วนบน หรือปวดหลังส่วนล่าง โดยจะมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง และไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ซึ่งระดับความรุนแรงจะมีตั้งแต่อาการปวดล้า ๆ ไปจนถึงปวดมากจนทนไม่ได้ หรือปวดร้าวลงขาร่วมด้วย

2. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ

ในขณะที่มีอาการปวดร้าว จะรู้สึกซ่า วูบ เย็น เหน็บ ซีด ขนลุก หรือเหงื่อออกร่วมด้วย หรือบางคนที่มีอาการปวดคอมาก ๆ ก็อาจจะมีอาการมึนงง หูอื้อ หรือตาพร่าร่วมด้วยได้

3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ

เช่น อาการปวดและชาที่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ และแขน อาการแขนขาอ่อนแรง นิ้วล็อค หรือปวดข้อมือ

9 เช็กลิสต์! คุณเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า?

เช็กลิสต์ความเสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม

คุณลองทำ ถ้าพร้อมแล้ว ไปทำกันเลย!

  • นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน
  • รู้สึกปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ ปวดหลัง และเอว ในขณะที่นั่งทำงานอยู่เสมอ
  • รู้สึกปวดเมื่อยเป็นประจำ จนต้องกินยาแก้ปวด หรือไปนวดเพื่อบรรเทาอาการ
  • มีอาการตาพร่ามัว และอ่านหน้าจอไม่ชัด ในระหว่างที่ทำงานเป็นบางครั้ง
  • มีอาการปวดหัวคล้ายไมเกรนอยู่บ่อย ๆ กินยาแก้ปวดแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น
  • มีน้ำหนักตัวที่มากเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  • มีความเครียดจากการทำงานสูง
  • ทำงานที่ต้องใช้แรง หรือยกของหนักเป็นประจำ

หากคุณลองทำเช็กลิสต์แล้ว มีการติ๊กถูกมากกว่า 2 – 3 ข้อขึ้นไป นั่นแสดงว่าคุณอาจกำลังเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมอยู่! แนะนำให้รีบไปพบนักกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการให้ดีขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสุขภาพในระยะยาว

รักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยกายภาพบำบัด ดีอย่างไร?

สาเหตุที่เราแนะนำให้ไปทำกายภาพบำบัดแทนการไปนวดแผนไทย นั่นก็เพราะว่า อาการออฟฟิศซินโดรมส่วนใหญ่มักเกิดจากการตึงและอักเสบของกล้ามเนื้อชั้นลึก ซึ่งการนวดด้วยมือไม่สามารถส่งแรงไปถึงกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้ ทำให้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดไม่ได้รับการรักษา และยังคงมีอาการปวดเรื้อรังอยู่นั่นเอง

การไปทำกายภาพบำบัดกับนักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เพราะนักกายภาพบำบัดจะสามารถตรวจประเมินได้ว่าสาเหตุของอาการปวดเกิดจากกล้ามเนื้อ หรือเอ็นส่วนไหน แล้วใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดที่ทันสมัยเข้าไปรักษาที่กล้ามเนื้อนั้น ๆ โดยตรง เช่น 

เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS

เข้าไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่ตึงเกิดการคลายตัว กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และกระตุ้นให้ระบบประสาทที่ทำงานบกพร่องให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ชา และอักเสบ จากการทำงานที่ผิดปกติของปลายประสาทให้ดีขึ้นได้

เครื่องรักษาด้วยคลื่นกระแทก Shock Wave

เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่ตึงเกร็งคลายตัว และเกิดการบาดเจ็บใหม่ ส่งผลให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อใหม่อีกครั้ง โดยเครื่องนี้สามารถลดอาการปวดได้ 50% ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ

ผลจากการใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดที่ทันสมัยในการรักษา จะช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษามีอาการดีขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ และถ้าทำอย่างต่อเนื่องร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ หรืออักเสบฟื้นฟูจนกลับมาเป็นปกติ และทำให้อาการปวดเรื้อรังหายขาดได้นั่นเอง

ออฟฟิศซินโดรม วิธีป้องกันทำอย่างไร?

ออฟฟิศซินโดรม วิธีป้องกันทำอย่างไร

โรคออฟฟิศซินโดรม สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม และดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น

  • ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม เช่น เลือกใช้เก้าอี้การยศาสตร์ (Ergonomic chair) ที่รองรับแผ่นหลังได้เป็นอย่างดี ระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ควรเหมาะสม นั่งทำงานแล้วขาไม่ลอย ใช้ Ergonomic mouse แทนเมาส์ธรรมดา และมีแสงสว่างในการทำงานที่เพียงพอ
  • ในระหว่างที่ทำงาน ควรหมั่นขยับร่างกาย หรือหาเวลาไปเดินผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือพักสายตาด้วยการมองระยะไกล ๆ ทุก ๆ 1 ชั่วโมง
  • หลังจากที่เลิกงานแล้ว ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก และข้อมือ
  • ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามจัดการความเครียดในการทำงานให้ดี ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป 
  • หากเริ่มกลับมามีอาการปวดเมื่อยบ่อย ๆ ควรไปทำกายภาพบำบัดเพื่อควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น

แนะนำท่าบริหารกล้ามเนื้อ ป้องกันออฟฟิศซินโดรม ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

สำหรับใครที่เป็นมือใหม่ในการออกกำลังกาย ไม่รู้ว่าจะบริหารกล้ามเนื้ออย่างไรดี เรามี 4 ท่าบริหารกล้ามเนื้อง่าย ๆ มาแนะนำ สามารถทำได้ในระหว่างที่นั่งทำงานเลย รับรองว่าถ้าทำเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้แน่นอน 

  • ท่ายืดกล้ามเนื้อบ่า : ให้นำมือซ้ายจับศีรษะด้านขวา แล้วเอียงไปทางด้านซ้าย ทำค้างไว้ 10 – 15 วินาที และสลับไปทำอีกข้าง โดยทำซ้ำทุก ๆ 1 ชั่วโมง ก็จะช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณบ่า และบรรเทาอาการปวดได้
  • ท่ายืดกล้ามเนื้อคอ : ให้ทำเหมือนท่ายืดกล้ามเนื้อบ่า แต่ใช้มืออีกข้างแตะที่บริเวณสะบักขวา และทำค้างข้างละ 10 – 15 วินาที แล้วสลับไปทำอีกข้าง โดยทำซ้ำทุก ๆ 1 ชั่วโมง ก็จะช่วยคลายกล้ามเนื้อคอได้
  • ท่ายืดสะบัก : ให้เอาแขนข้างซ้ายพาดผ่านลำตัว แล้วใช้มือข้างขวาขัดแขนซ้ายดึงเข้าหาลำตัว ทำค้างไว้ 10 – 15 วินาที แล้วสลับไปทำอีกข้าง ทำวันละ 5 – 10 ครั้ง
  • ท่ายืดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน : ประสานมือไขว้กัน แล้วเหยียดไปด้านหน้าให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำค้างไว้ 10 – 15 วินาที วันละ 5 – 10 ครั้ง

สรุปเรื่องออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นอาการที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อหรือข้อต่อซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเริ่มจากอาการปวดทั่วไป ก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่บริเวณคอ บ่า ไหล่ และสะบัก ปวดข้อมือ มีอาการชาที่นิ้วมือและแขน หรือมีอาการอ่อนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว คุณควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณมีอาการที่เข้าข่ายโรคออฟฟิศซินโดรมแล้วล่ะก็ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนอาการปวดรุนแรง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต แนะนำให้ไปพบนักกายภาพบำบัดตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่อักเสบให้หายกลับมาเป็นปกติ ยิ่งคุณไปพบนักกายภาพเร็วเท่าไหร่ การบำบัดฟื้นฟูก็ยิ่งทำได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้าใช้บริการ The Commons Clinic ได้ที่ :

11/06/67 เวลา 21:20 น.