กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ ฟื้นฟูร่างกายวัยเก๋าให้แข็งแรง

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเกิดความเสื่อมโทรมตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อต่อและกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้การทำกิจวัตรประจำวันเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น การกายภาพบำบัดผู้สูงอายุจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงและความคล่องตัวให้กับกล้ามเนื้อ ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้สูงอายุ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับใครที่ต้องดูแลผู้สูงอายุภายในบ้าน แล้วไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี เดอะคอมมอนส์คลินิก (The Commons Clinic) คลินิกกายภาพบำบัดที่ดูแลโดยนักกายภาพบำบัดปริญญา จะพาไปทำความรู้จักกับการกายภาพบำบัดผู้สูงอายุเอง ตั้งแต่ความหมาย ประโยชน์ วิธีการกายภาพบำบัดต่างๆ ไปจนถึงท่าบริหารที่สามารถทำได้เองที่บ้าน ตามไปดูกันเลย

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุคืออะไร?

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ (Geriatric Physical Therapy) คือ การกายภาพบำบัดที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ มุ่งเน้นการพัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การบริหารกล้ามเนื้อ หรือการใช้อุปกรณ์เสริมการรักษา เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ลดอาการปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยรวม

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุเหมาะกับใคร

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุเหมาะสำหรับผู้สูงอายุทุกคน แต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเหล่านี้

  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ (Arthritis)
  • ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
  • ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease)
  • ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดสะโพกหรือเข่า
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัว (Balance disorders)
  • ผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด (Incontinence)
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke)
  • ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีโรคร้ายแรงหรือต้องได้รับการรักษาเฉพาะทางจากแพทย์ เช่น ผู้ที่ต้องได้รับการผ่าตัดสะโพกหรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง นักกายภาพบำบัดจะทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อวางแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการรักษาที่เหมาะสม

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุมีประโยชน์อย่างไร

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุมีประโยชน์อย่างไร

การกายภาพบำบัดผู้สูงอายุมีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • ช่วยลดอาการปวดตามข้อต่อและกล้ามเนื้อต่างๆ
  • ช่วยเพิ่มควมแข็งแรงของกล้ามเนื้อแข็ง ทำให้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วมากขึ้น
  • ช่วยให้ทรงตัวได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการหกล้มที่เป็นอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ
  • ช่วยให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น
  • ช่วยฟื้นฟูการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ 
  • ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น เพิ่มความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว หรือทำอาหาร
  • การทำกายภาพบำบัดอาจช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดลงได้
  • ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับอย่างมีนัยยะสำคัญ
  • การมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตใจที่ดีขึ้น
  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง

7 วิธีกายภาพบำบัดผู้สูงอายุ ฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรง

การกายภาพบำบัดผู้สูงอายุมีหลากหลายวิธี แต่ละวิธีมีจุดเด่นและประโยชน์ที่แตกต่างกันไป นักกายภาพบำบัดจะเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละคน ต่อไปนี้คือ 7 วิธีกายภาพบำบัดที่นิยมใช้ในการฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ:

1. การทำกายภาพบำบัดทั่วไป (Manual Therapy)

การทำกายภาพบำบัดทั่วไป หรือที่เรียกว่า Manual Therapy เป็นเทคนิคการบำบัดด้วยมือของนักกายภาพบำบัด โดยใช้การสัมผัส การกด การนวด การดึง และการจัดท่าทางของร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการปวด เพิ่มความยืดหยุ่น และปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ

วิธีการนี้ประกอบด้วยเทคนิคบำบัดด้วยมือ (Manual Technique) ต่างๆ เช่น

  • Mobilization : การขยับข้อต่อด้วยเทคนิคพิเศษเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อรอบข้อต่อ
  • Manipulation : การดัดและขยับข้อต่อด้วยความเร็วและแรงในระยะเวลาสั้นๆ
  • Muscle Energy : การปรับแก้ไขโครงสร้างร่างกายโดยให้ผู้สูงอายุออกแรงในบางท่าร่วมกับการทำหัตถการ
  • Massage : การนวดกดจุดเพื่อคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ตึง
  • Myofascial release : การนวดคลายพังผืดกล้ามเนื้อ

การทำกายภาพบำบัดทั่วไปเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ข้อติดขัด หรือมีปัญหาในการเคลื่อนไหว โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินอาการและเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก Shockwave

2. กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก Shockwave

การทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก Shockwave เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อที่มีปัญหา เพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมและฟื้นฟูของเซลล์ วิธีนี้มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาอาการปวดเรื้อรังและการอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อน

ประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก

  • บรรเทาอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว
  • กระตุ้นการไหลเวียนเลือดและการสร้างหลอดเลือดใหม่
  • ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนัง
  • ยับยั้งกระบวนการอักเสบ
  • ช่วยสลายหินปูนที่อยู่รอบๆ เส้นเอ็น

การรักษาด้วยคลื่นกระแทกเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดข้อเข่า ปวดส้นเท้า หรือปวดบริเวณไหล่ โดยเฉพาะในกรณีที่การรักษาแบบอื่นๆ ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดก่อนเริ่มการรักษา เนื่องจากอาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุบางรายที่มีโรคประจำตัวบางชนิด

3. กายภาพบำบัดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS

การทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS (Peripheral Magnetic Stimulation) เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงเพื่อกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อ วิธีนี้สามารถส่งคลื่นผ่านเสื้อผ้าลงไปถึงเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ หรือกระดูกที่อยู่ลึกถึง 10 เซนติเมตร

ประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดด้วย PMS

  • ช่วยให้กล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งคลายตัวลง
  • ฟื้นฟูความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาท
  • บรรเทาอาการปวดเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ช่วยรักษาอาการปวดที่มาจากระบบประสาทและลดอาการชา
  • กระตุ้นการซ่อมแซมของเส้นประสาทที่เสียหาย
  • เพิ่มความแข็งแรงและชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ

การรักษาด้วย PMS เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ที่มีอาการอ่อนแรงของแขนขา ผู้ที่มีอาการปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรม หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูก

4. การประคบร้อน ประคบเย็น (Heat & Cold Therapy)

การประคบร้อนและประคบเย็นเป็นวิธีการบำบัดที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพสูงในการบรรเทาอาการปวดและอักเสบ โดยทั้งสองวิธีมีข้อบ่งชี้ในการใช้ที่แตกต่างกัน

  • การประคบร้อน : จะช่วยขยายหลอดเลือด เพิ่มการไหลเวียนเลือด เหมาะสำหรับอาการปวดเรื้อรัง กล้ามเนื้อตึง ข้อติดควรใช้หลังจาก 48-72 ชั่วโมงหลังการบาดเจ็บ และประคบนาน 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
  • การประคบเย็น : จะช่วยลดการอักเสบ บวม และระงับปวด เหมาะสำหรับอาการบาดเจ็บเฉียบพลัน การอักเสบ ควรใช้ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกหลังการบาดเจ็บ และประคบนาน 20-30 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง

แม้ว่าการประคบร้อน ประคบเย็น สามารถทำได้ง่ายที่บ้าน แต่ควรระมัดระวังในผู้สูงอายุที่มีความไวต่อความร้อนหรือเย็น หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการรับความรู้สึก เพราะอาจทำให้ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้

5. การทำกายภาพบำบัดด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การทำกายภาพบำบัดด้วยอัลตราซาวด์เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อ เพื่อสร้างความร้อนและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด วิธีนี้มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ และเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ

ประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดด้วยอัลตราซาวด์

  • ลดอาการปวดและการอักเสบ
  • เพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่ได้รับการรักษา
  • ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • เพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อพังผืด

การรักษาด้วยอัลตราซาวด์เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเอ็นและพังผืด อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น มะเร็ง หรือมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝังในร่างกาย

6. การทำกายภาพบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical stimulation)

การทำกายภาพบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นการใช้กระแสไฟฟ้าความแรงต่ำเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ วิธีนี้มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวด ฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

ประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า

  • บรรเทาอาการปวดเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง
  • ลดอาการบวม
  • เพิ่มการไหลเวียนเลือด
  • ช่วยในการฟื้นฟูหลังการบาดเจ็บหรือผ่าตัด

การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเรื้อรัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือต้องการฟื้นฟูหลังการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในผู้ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ

7. การทำกายภาพบำบัดด้วยวารีบำบัด (Hydrotherapy)

วารีบำบัดเป็นการทำกายภาพบำบัดในน้ำ โดยใช้คุณสมบัติของน้ำในการลดแรงกระแทกและเพิ่มแรงต้านในการออกกำลังกาย วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บและทำให้การเคลื่อนไหวง่ายขึ้น

ประโยชน์ของการทำวารีบำบัด

  • ลดแรงกระแทกต่อข้อต่อ
  • เพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ
  • ปรับปรุงการทรงตัวและการประสานงานของร่างกาย
  • ลดอาการปวดและการอักเสบ
  • เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
  • ช่วยผ่อนคลายและลดความเครียด

ท่ากายภาพบำบัดผู้สูงอายุง่ายๆ ทำได้ทุกวัน

10 ท่ากายภาพบำบัดผู้สูงอายุง่ายๆ ทำได้ทุกวัน

นอกจากการทำกายภาพบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้สูงอายุยังสามารถทำท่าบริหารง่ายๆ ที่บ้านเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น

1. ท่าเดินบนเส้นตรง 

  • วิธีทำ : ให้เดินบนเส้นตรงระยะทาง 3-5 เมตร และทำไปกลับ 8-10 รอบ
  • ประโยชน์ : ช่วยฝึกการทรงตัวและป้องกันการล้ม
  • ข้อควรระวัง: ควรเดินใกล้กำแพงหรือมีที่เกาะ หากรู้สึกเวียนหัวให้หยุดพักทันที

2. ท่านั่งบนเก้าอี้ยกเข่าสลับซ้ายขวา

  • วิธีทำ : ให้นั่งบนเก้าอี้ ค่อยๆ ยกเข่าขึ้นสลับซ้ายขวา และทำ 8-10 ครั้งต่อข้าง
  • ประโยชน์ : ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา
  • ข้อควรระวัง : ทำช้าๆ อย่าเร่งรีบ เพราะอาจทำให้ตกเก้าอี้ได้

3. ท่านั่งเหยียดขาตรง

  • วิธีทำ : ให้นั่งบนเก้าอี้ เหยียดขาขวาให้ตรง งอเข่าซ้าย แล้วค่อยๆ โน้มตัวไปด้านหน้า ค้างไว้ 10 วินาที ทำ 8-10 ครั้ง แล้วสลับข้าง
  • ประโยชน์ : ช่วยยืดกล้ามเนื้อหลังขาและลดอาการชา
  • ข้อควรระวัง : เหยียดขาให้ตรงและโน้มตัวเท่าที่ทำได้ ไม่ฝืนจนเจ็บ

4. ท่านอนราบยกขาสลับ

  • วิธีทำ : ให้นอนราบบนพื้น เหยียดขาตรง ยกขาขึ้นทีละข้าง สลับซ้ายขวา และทำ 8-10 ครั้งต่อข้าง
  • ประโยชน์ : ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและแกนกลางลำตัว
  • ข้อควรระวัง : หายใจตามปกติ ไม่กลั้นหายใจ

5. ท่านอนราบบิดเอว

  • วิธีทำ : ให้นอนราบ ชันเข่าทั้งสองข้าง แล้วค่อยๆ บิดเอวไปทางซ้ายและขวาสลับกัน ทำ 8-10 ครั้งต่อข้าง
  • ประโยชน์ : ช่วยคลายกล้ามเนื้อเอวและเพิ่มความยืดหยุ่น
  • ข้อควรระวัง : บิดเอวช้าๆ ไม่ฝืนจนเจ็บ

6. ท่านอนยกสะโพก

  • วิธีทำ : ให้นอนราบ ชันเข่าทั้งสองข้าง ยกสะโพกขึ้นช้าๆ ค้างไว้ 5 วินาที แล้วลดลง โดยทำ 8-10 ครั้ง
  • ประโยชน์ : ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาด้านหลัง
  • ข้อควรระวัง : หายใจตามปกติ นับเลขขณะทำ ไม่ควรรีบทำจนเกินไป

7. ท่านอนกอดเข่าชิดอก

  • วิธีทำ : ให้นอนราบ ยกเข่าทั้งสองข้างขึ้นชิดอก ใช้มือโอบรอบเข่า กอดไว้ 10 วินาที และทำ 8-10 ครั้ง
  • ประโยชน์ : ช่วยยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างและลดอาการปวดหลัง
  • ข้อควรระวัง : ทำช้าๆ ไม่กลั้นหายใจ

8. ท่ายืนยกแขนหายใจเข้าออก

  • วิธีทำ : ให้ยืนตรง ยกแขนขึ้นด้านหน้าพร้อมหายใจเข้าลึกๆ ลดแขนลงพร้อมหายใจออก และทำ 8-10 ครั้ง
  • ประโยชน์ : ช่วยเพิ่มการทำงานของปอด ลดอาการหอบเหนื่อย และยืดกล้ามเนื้อหน้าอก
  • ข้อควรระวัง : หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ จะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป

9. ท่ายืนกางแขนทรงตัว

  • วิธีทำ : ให้ยืนตรง กางแขนออกด้านข้างระดับไหล่ พยายามทรงตัวให้นิ่งนาน 20 วินาที และทำ 3-5 ครั้ง
  • ประโยชน์ : ช่วยฝึกการทรงตัวและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา
  • ข้อควรระวัง : ยืนใกล้ราว หรือกำแพงเพื่อความปลอดภัย

10. ท่าเดินย่ำเท้าอยู่กับที่

  • วิธีทำ : ยืนตรง ยกเข่าขึ้นสลับซ้ายขวาเหมือนเดินอยู่กับที่ ทำต่อเนื่อง 30 วินาที พัก 10 วินาที และทำ 3 รอบ
  • ประโยชน์ : ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา
  • ข้อควรระวัง : ทำช้าๆ หากรู้สึกเหนื่อยให้หยุดพัก

การทำท่ากายภาพบำบัดเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และการทรงตัวให้กับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อนเริ่มโปรแกรมออกกำลังกายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือข้อจำกัดทางร่างกาย

สรุปบทความเกี่ยวกับการกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ

สรุปบทความเกี่ยวกับการกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุเป็นวิธีสำคัญในการฟื้นฟูและเสริมสร้างสุขภาพ ช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วิธีการมีหลากหลาย ตั้งแต่การทำกายภาพบำบัดทั่วไป การใช้เทคโนโลยีทันสมัย ไปจนถึงการประคบร้อน-เย็น นอกจากนี้ ยังมีท่าบริหารง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านทุกวัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกาย ช่วยชะลอความเสื่อมและป้องกันโรคต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพบำบัดควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บให้ได้มากที่สุด สำหรับผู้สูงอายุท่านใดที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ข้อเข่าเสื่อม หรืออยากออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและกระดูก สามารถนัดหมายเข้ามาตรวจสุขภาพร่างกาย ทำกายภาพบำบัด และวางโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม ที่ The Commons Clinic ได้เลย เรามีทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัดปริญญาให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือกายภาพบำบัดที่ทันสมัย เช่น เครื่อง Shock Wave หรือ เครื่อง PMS มั่นใจเลยว่า จะช่วยให้อาการปวดดีขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำอย่างแน่นอน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้าใช้บริการ The Commons Clinic ได้ที่ :

14/07/67 เวลา 00:05 น.