ประคบร้อน ประคบเย็น ต่างกันอย่างไร? ควรใช้ตอนไหนดี?

หลายคนคงทราบอยู่แล้วว่า การประคบร้อน (Hot Therapy) และ ประคบเย็น (Cold Therapy) เป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาอาการปวด บวม หรือฟกช้ำจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การประสบอุบัติเหตุ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือข้อเข่าบวมในผู้สูงอายุ ได้อย่างเห็นผล แต่รู้หรือไม่ว่า มีหลายคนที่ประคบร้อน หรือประคบเย็นผิดวิธี

เพื่อให้คุณสามารถประคบร้อน ประคบเย็น ได้อย่างถูกต้อง ไม่กระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ในบทความนี้ The Commons Clinic (เดอะ คอมมอนส์ คลินิก) จะพาคุณไปรู้จักกับวิธีใช้งานที่ถูกต้องเอง

รู้จักกับการประคบร้อน ประคบเย็น

การประคบร้อน ประคบเย็น เป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ทำเพื่อบรรเทาอาการปวด หรืออักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดหลังจากโรคออฟฟิศซินโดรม ไข้หวัด ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาจนทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดและอักเสบ หรือประสบอุบัติเหตุ ๆ จนทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ และเกิดแผลฟกช้ำ เป็นต้น

ประคบร้อน ประคบเย็น ต่างกันอย่างไร?

การประเมินอาการและเลือกวิธีปฐมพยาบาลที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการประคบร้อน และประคบเย็น จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน หากเลือกใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมก็อาจกระตุ้นให้อาการบาดเจ็บรุนแรงขึ้นแทนที่จะช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บให้ลดลงได้

การประคบด้วยความร้อน จะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวได้ จึงเหมาะที่จะใช้บรรเทาอาการปวดที่มีอาการกล้ามเนื้อตึงเกร็งร่วมด้วย ในขณะที่การประคบด้วยความเย็น จะทำให้เลือดหดตัว จึงเหมาะที่ใช้บรรเทาอาการบาดเจ็บเฉียบพลันที่มีการบวมร่วมด้วย เพราะจะช่วยให้เลือดออกน้อยลง และลดอาการบวมลงได้

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราประคบร้อน

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราประคบร้อน?

เมื่อเราประคบแผลด้วยความร้อน จะทำให้อุณหภูมิของเนื้อเยื่อสูงขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่บริเวณนั้น ทำให้อาการบาดเจ็บฟื้นตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้การประคบร้อนยังช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อมีความยืดหยุ่นที่ดีขึ้น ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นด้วย

ประคบร้อน รักษาอาการอะไรได้บ้าง?

อาการที่สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบร้อน ได้แก่

  • อาการปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง
  • อาการกล้ามเนื้อตึงเกร็งมาก ไม่ว่าจะเป็น ออฟฟิศซินโดรม ปวดหลัง ปวดคอ บ่า ไหล่ หรือปวดขา
  • อาการข้อตึง
  • อาการตะคริว
  • ปวดประจำเดือน
  • เต้านมคัดในช่วงให้นมบุตร

ควรประคบร้อนเมื่อไรดี?

ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีแผลฟกช้ำ ควรรอให้ไม่มีอาการบวม แดง หรือร้อนบริเวณที่บาดเจ็บก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 48 – 72 ชั่วโมง แล้วค่อยประคบด้วยความร้อนเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ควรทำการประคบด้วยความร้อนทันที เพราะกระตุ้นให้เลือดออกและมีอาการบวมมากขึ้นได้

วิธีประคบร้อนอย่างถูกต้อง

การประคบด้วยความร้อนสามารถเลือกใช้แผ่นประคบร้อนสำเร็จรูป หรือใช้ถุงน้ำร้อนรองด้วยผ้าขนหนูก็ได้ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส (จะรู้สึกอุ่น ๆ สบาย ๆ ไม่ร้อน) และควรมีผ้ารอง เพื่อป้องกันการเบิร์น หรือการเกิดแผลพุพอง แล้วค่อยนำมาประคบบริเวณที่ปวดหรือตึง ประมาณ 15 – 20 นาที ทำซ้ำวันละ 2 – 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 – 2 ชม.

ข้อควรระวังในการประคบร้อน

เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการประคบด้วยความร้อนบริเวณที่มีเลือดออก มีแผลเปิด และระมัดระวังในผู้ที่มีเส้นประสาทอักเสบ อย่างเช่น โรคเบาหวาน เพราะอาจมีความบกพร่องต่อการรับความรู้สึกได้ ทำให้ไม่สามารถประเมินความร้อนที่เหมาะสมกับตนเองได้

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราประคบเย็น

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราประคบเย็น?

เมื่อเราประคบแผลด้วยความเย็น จะทำให้อุณหภูมิของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นลดลง ทำให้ความยืดหยุ่นลดลง ส่งผลให้หลอดเลือดที่มาเลี้ยงเกิดการหดตัว การประคบเย็นจึงมีผลในการช่วยห้ามเลือดและบรรเทาอาการบวมได้ดี

ประคบเย็น รักษาอาการอะไรได้บ้าง?

อาการที่สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น ได้แก่

  • อาการบาดเจ็บเฉียบพลันที่มีอาการปวด บวม แดง หรือร้อนร่วมด้วย
  • ปวดไมเกรน
  • รอยฟกช้ำจากการกระแทก
  • บาดแผลจากของมีคม
  • อาการปวดเฉียบพลัน หรือปวดฟัน
  • ข้อเท้าแพลง หรือได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • อาการปวดศีรษะ ตัวร้อน จากการเป็นไข้หวัด
  • เลือดกำเดาไหล
  • แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่อาการไม่รุนแรงมาก

ควรประคบเย็นเมื่อไรดี?

การประคบด้วยความเย็นสามารถทำได้ทันทีเมื่อได้รับการบาดเจ็บ หรือภายใน 24 – 48 ชั่วโมง เพราะหลังจากนั้นอาการปวด บวม แดง ร้อน จะดีขึ้นแล้ว และจะเหมาะกับการประคบด้วยความร้อนมากกว่า

วิธีประคบเย็นอย่างถูกต้อง

การประคบด้วยความเย็น สามารถใช้แผ่นประคบเย็นสำเร็จรูป หรือถุงห่อน้ำแข็งก็ได้ โดยควรรองด้วยผ้าขนหนูก่อน เพื่อป้องกันความเย็นกัดผิว (จะรู้สึกเย็นสบาย) แล้วทำการประคบและออกแรงกดเบา ๆ บริเวณที่บวม จุดละ 20 – 30 นาที ทำซ้ำวันละ 2 – 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 – 2 ชม. ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

ข้อควรระวังในการประคบเย็น

การประคบด้วยความเย็นควรทำอย่างระมัดระวังในผู้ที่ทนต่อความเย็นไม่ได้ เพราะอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว หรือทำให้มีผื่นขึ้นง่ายได้

สรุปเรื่องการประคบร้อน ประคบเย็น

สรุปเรื่องการประคบร้อน ประคบเย็น

เป็นอย่างไรกันบ้างกับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการประคบร้อน ประคบเย็น ที่เรานำมาฝากในบทความนี้ หวังว่าจะช่วยให้คุณสามารถเลือกใช้วิธีปฐมพยาบาลด้วยความร้อน หรือความเย็นได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น สำหรับใครที่มีอาการปวดเรื้อรังบ่อย ๆ หรือกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บ หรืออักเสบจากการเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย แนะนำให้ปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อหาวิธีบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสมจะดีกว่า 

นักกายภาพบำบัดจะมีเครื่องมือกายภาพบำบัดที่ทันสมัย เช่น เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS หรือเครื่องรักษาด้วยคลื่นกระแทก Shock Wave ซึ่งจะช่วยรักษาอาการอย่างตรงจุด และทำให้บริเวณที่บาดเจ็บดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้าใช้บริการ The Commons Clinic ได้ที่ :

16/06/67 เวลา 12:57 น.