ปวดสะบักหลังเรื้อรังอันตรายไหม ต้องรักษาอย่างไรดี

อาการปวดสะบักหลังมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือกลุ่มคนที่ต้องทำงานยกของหนักเป็นประจำ หรือทำอาชีพที่ใช้กล้ามเนื้อสะบักหลังซ้ำๆ แล้วอาการปวดสะบักหลังอันตรายไหม ต้องรักษาอย่างไร The Commons Clinic คลินิกกายภาพบำบัด ได้สรุปข้อมูลที่ควรรู้มาให้แล้ว อ่านได้เลยที่บทความนี้

สะบักอยู่ตรงไหนของร่างกาย

สะบักเป็นกระดูกรูปสามเหลี่ยมแบนที่อยู่บริเวณหลังส่วนบนของร่างกาย ตำแหน่งของสะบักอยู่ใต้บ่าลงมาเล็กน้อย ห่างจากกระดูกสันหลังประมาณ 2 นิ้วมือ มีทั้งด้านซ้ายและขวา แต่ละข้างมีขนาดประมาณหนึ่งฝ่ามือ โดยสะบักทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างแขนกับลำตัว และเป็นจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อหลายมัดที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของแขนและไหล่

ปวดสะบักหลังคืออะไร

ปวดสะบักหลังคืออะไร

อาการปวดสะบักหลังเป็นความรู้สึกไม่สบายหรือเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสะบักและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอยู่บริเวณหลังส่วนบน อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน 

โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดสะบักหลังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1. อาการปวดสะบักทั่วไป

เป็นความรู้สึกไม่สบายหรือเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณสะบักหรือหลังส่วนบน อาการนี้มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป หรือการอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์โดยไม่มีการพักหรือเปลี่ยนอิริยาบถ

2. อาการปวดสะบักที่ลามไปยังส่วนอื่น

เป็นความเจ็บปวดที่เริ่มต้นที่สะบักแต่อาจแผ่ขยายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น คอ ไหล่ หรือแขน อาการประเภทนี้อาจบ่งชี้ถึงปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือการกดทับเส้นประสาท

อาการปวดสะบักหลังที่พบได้บ่อย

  • ปวดตึงหรือเมื่อยล้าบริเวณกล้ามเนื้อระหว่างสะบักทั้งสองข้าง
  • ปวดเฉพาะที่สะบักข้างใดข้างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “สะบักจม”
  • ปวดร้าวจากสะบักไปยังคอ บ่า หรือไหล่
  • ปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้น มีอาการไหล่ติด
  • รู้สึกชาหรือเสียวแปลบลงไปตามแขนหรือมือ
  • ปวดร่วมกับอาการตึงหน้าอกหรือหายใจไม่สะดวก
  • มีอาการร่วมกับปวดสะโพกร้าวลงขา

สะบักจมอาการเป็นอย่างไร

อาการสะบักจมเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณรอบสะบักทำงานไม่สมดุล ทำให้สะบักวางตัวในตำแหน่งที่ผิดปกติ ผู้ที่มีอาการสะบักจมมักจะรู้สึกปวดเสียดลึกๆ บริเวณสะบักข้างใดข้างหนึ่ง อาจมีอาการเจ็บแปลบหรือรู้สึกขัดๆ เมื่อเคลื่อนไหว สาเหตุหลักมาจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณสะบักเกิดการเกร็งตัวมากเกินไปจนเกิดการอักเสบ และอาจมีพังผืดมายึดเกาะ ทำให้การไหลเวียนเลือดและการลำเลียงสารอาหารไปยังเนื้อเยื่อบริเวณนั้นไม่สะดวก

ปวดสะบักหลังเกิดจากอะไร

ปวดสะบักหลังเกิดจากอะไร

อาการปวดสะบักหลังสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน สาเหตุหลักๆ ของการปวดสะบักหลังมีดังนี้

  • ปัญหาจากกล้ามเนื้อ : เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณสะบักและหัวไหล่มากเกินไป ทำให้เกิดการยึดตึงหรือล้า
  • ปัญหาจากกระดูก : อาจเกิดจากกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือมีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกเคลื่อน ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่สะบัก
  • การบาดเจ็บ : เช่น การยกของหนักผิดท่า การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือการประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณสะบักและหลังส่วนบน
  • โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) : เกิดจากการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ที่มีท่าทางไม่ถูกต้อง  เช่น การนั่งหลังค่อม ก้มคอมากเกินไป หรือยกไหล่ค้างไว้เป็นเวลานาน ท่าทางเหล่านี้ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และสะบักทำงานหนักเกินไป นำไปสู่อาการปวดเรื้อรังได้
  • ความเครียดและความวิตกกังวล : ความเครียดทางจิตใจสามารถส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า และสะบัก ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังได้ นอกจากนี้ ความเครียดยังอาจทำให้ความรู้สึกไวต่อความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกปวดมากกว่าปกติ
  • โรคแทรกซ้อนอื่นๆ : บางครั้งอาการปวดสะบักอาจเป็นอาการแสดงของโรคอื่น เช่น โรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับปอด โรคนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นต้น

ปวดสะบัดหลังเรื้อรังอันตรายไหม ต้องไปพบแพทย์ไหม

อาการปวดสะบักหลังเรื้อรังอาจไม่อันตรายถึงชีวิตในทันที แต่ก็ไม่ควรละเลย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิตประจำ การนอนหลับ และในบางครั้ง อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่า 

สำหรับใครที่มีอาการปวดสะบักหลังเรื้อรัง หรือมีอาการปวดเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • ปวดรุนแรงและต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย โดยเฉพาะที่แขนหรือมือ
  • ปวดร่วมกับมีไข้ น้ำหนักลด หรือ อาการผิดปกติอื่นๆ
  • ปวดหลังจากได้รับอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • ปวดจนรบกวนการนอนหลับหรือกิจวัตรประจำวัน
  • มีอาการปวดร้าวลงขา สะโพก น่อง หรือเท้าร่วมด้วย

ปวดสะบักหลังทำไงถึงจะหาย

ปวดสะบักหลังทำไงถึงจะหาย

การรักษาอาการปวดสะบักหลังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปแล้ว การรักษามักจะเริ่มจากวิธีที่ไม่ต้องใช้ยาก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นจึงจะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีทำให้หายปวดหลังอื่นๆ ต่อไป

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นวิธีที่สำคัญในการบรรเทาอาการปวดสะบักหลังและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือยกของในท่าที่ไม่ถูกต้อง
  • ปรับท่านั่งทำงานให้ถูกต้องตามหลัก Ergonomics โดยเฉพาะเมื่อต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
  • หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่อยู่ในท่าเดิมนานเกินไป แนะนำให้ลุกยืนหรือเดินทุก 30 นาที
  • จัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อการมีท่าทางที่ถูกต้อง เช่น ปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะสม

2. ทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด อาการอักเสบ

การทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดสะบักหลัง โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินอาการและวางแผนการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ยกตัวอย่างเช่น

3. ออกกำลังกายและทำท่าบริหาร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

การออกกำลังกายและการทำท่าบริหารอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาอาการปวดสะบักหลัง การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น และปรับปรุงท่าทางการเคลื่อนไหว ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการปวดสะบักหลังได้

ตัวอย่างกิจกรรมออกกำลังกายที่แนะนำ

  • การยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า และหลัง
  • การเดินเร็วหรือว่ายน้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
  • การฝึกโยคะแก้ปวดหลัง หรือพิลาทิส ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลาง
  • ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อนเริ่มโปรแกรมออกกำลังกายใหม่ โดยเฉพาะหากคุณมีอาการปวดเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัว

อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่มีอาการปวดเรื้อรัง หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อออกแบบโปรแกรมออกกำลังกายเฉพาะบุคคล จะเหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการออกกำลังกายผิดวิธีได้

ท่าคลายปวดสะบักหลัง

แนะนำท่าคลายปวดสะบักหลังง่าย ๆ ช่วยลดอาการปวดอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากวิธีรักษาอาการปวดสะบักหลังเรื้อรังแล้ว เรายังมีท่ายืดกล้ามเนื้อแขน และท่ายืดเส้นออฟฟิศซินโดรมที่ช่วยคลายปวดสะบักหลังง่ายๆ มาฝากด้วย ใครที่มีเริ่มมีอาการปวดที่บริเวณคอ บ่า ไหล่ หรือสะบักแล้ว ลองนำไปใช้ดูได้เลย รับรองว่าจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้แน่นอน

1. ท่าบีบสะบัก 

  • ประโยชน์ : ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อระหว่างสะบัก ลดอาการปวดตึง
  • วิธีทำ : ยืนตรง แขนแนบลำตัว งอศอก 90 องศา พยายามบีบสะบักเข้าหากัน ค้างไว้ 5 วินาที แล้วคลาย ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง ทำวันละ 2-3 รอบ

2. ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักและหลังส่วนบน

  • ประโยชน์ : ช่วยคลายกล้ามเนื้อสะบักและหลังส่วนบนที่ตึงตัว เพิ่มการไหลเวียนเลือด
  • วิธีทำ : นั่งหรือยืนตรง ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นพาดข้ามศีรษะ ใช้มืออีกข้างจับศอกแล้วดึงเบาๆ รู้สึกถึงการยืดที่สะบัก ค้างไว้ 15-30 วินาที สลับข้าง ทำข้างละ 3-5 ครั้ง

3. ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักด้านใน

  • ประโยชน์ : ช่วยยืดกล้ามเนื้อระหว่างสะบัก ลดอาการปวดตึง และเพิ่มความยืดหยุ่น
  • วิธีทำ : ยืนหรือนั่งตรง ยื่นแขนไปด้านหน้า ไขว้กัน โน้มตัวไปด้านหน้าให้รู้สึกถึงการยืดระหว่างสะบัก ค้างไว้ 15-30 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

4. ท่ายืดกล้ามเนื้อคอด้านหลัง

  • ประโยชน์ : ช่วยคลายกล้ามเนื้อคอด้านหลังที่เชื่อมต่อกับสะบัก ลดอาการปวดตึงที่ต้นคอ
  • วิธีทำ : นั่งหรือยืนตรง ค่อยๆ ก้มศีรษะลง คางชิดอก รู้สึกถึงการยืดที่ต้นคอ ค้างไว้ 15-30 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง ระวังไม่ให้ออกแรงกดศีรษะมากเกินไป

5. ท่ายืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง

  • ประโยชน์ : ช่วยคลายกล้ามเนื้อคอและบ่าด้านข้าง ซึ่งเชื่อมต่อกับสะบัก ลดอาการปวดร้าวจากคอไปสะบัก
  • วิธีทำ : นั่งหรือยืนตรง เอียงศีรษะไปด้านข้าง ใช้มือข้างเดียวกันช่วยดึงศีรษะเบาๆ รู้สึกถึงการยืดที่คอด้านตรงข้าม ค้างไว้ 15-30 วินาที สลับข้าง ทำข้างละ 3-5 ครั้ง

สรุปบทความปวดสะบักหลังเรื้อรัง

อาการปวดสะบักหลังเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศหรือผู้ที่ต้องใช้แรงมาก แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ การรู้จักสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้เราจัดการกับอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทำกายภาพบำบัด และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ล้วนเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

สำหรับใครที่มีอาการปวดสะบักหลังเรื้อรัง ปวดต้นคอท้ายทอย ปวดหัว หรือมีอาการปวดอื่นๆ อย่างปวดออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดคอ บ่า ไหล่ อยู่ สามารถนัดหมายเข้ามาตรวจสุขภาพร่างกาย และทำกายภาพบำบัด ที่ The Commons Clinic ได้เลย เรามีทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัดปริญญาให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือกายภาพบำบัดที่ทันสมัย เช่น เครื่อง Shock Wave หรือ เครื่อง PMS มั่นใจเลยว่า จะช่วยให้อาการปวดของคุณดีขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำอย่างแน่นอน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้าใช้บริการ The Commons Clinic ได้ที่ :

25/08/67 เวลา 00:38 น.